
เทคนิคการใช้สีพิมพ์ผ้าและวิธีพิมพ์ผ้าให้มีคุณภาพ
การพิมพ์ผ้าจัดว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการการผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มที่มีกรรมวิธีที่หลากหลาย และยังจัดว่าเป็นงานศิลปะอุตสาหกรรม (Industrial Art) อีกประเภทหนึ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะมาประกอบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งต้องอาศัยหลักวิชาการความรู้และความชำนาญเป็นอย่างมาก เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการทั้งในด้านความสวยงาม ความทันสมัย และความคงทนต่อการใช้งาน ดังนั้นในปัจจุบันการพิมพ์ผ้าจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่ใช่น้อย เทคนิคการพิมพ์ผ้าก็มีแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์โดยตรง (Direct Printing) การพิมพ์แบบรูปลอก (Transfer Printing) การพิมพ์แบบฉีดพ่นสี (Jet Printing) การพิมพ์ทับ (Over Printing) เป็นต้น
ซึ่งกรรมวิธีการพิมพ์ต่างๆนั้นได้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความก้าวหน้าของสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และปริมาณความต้องการของตลาดสิ่งทอที่เพิ่มมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กรรมวิธีการพิมพ์ผ้าจึงได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์มาโดยตลอด ทั้งในด้านอุปกรณ์ แม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้สำหรับการพิมพ์ ซึ่งการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพิมพ์ก็จะช่วยให้สามารถผลิตงานพิมพ์ออกมได้อย่างมีคุณภาพ และยังเป็นการช่วยลดความสูญเสียอันเกิดมาจากความผิดพลาดในการทำงานได้อีกทางหนึ่ง
ประเภทของการพิมพ์สกรีนผ้า
ประเภทการพิมพ์สกรีนลงบนผ้า สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
1.พิมพ์โดยตรง (Direct Printing)
เป็นการใช้แป้งพิมพ์ซึ่งผสมกับหมึกพิมพ์ตามประเภทที่เหมาะกับเนื้อผ้าพร้อมกับการผสมสารเคมีอื่น ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความคมชัดของสีและลวดลาย ทำการพิมพ์ลวดลายลงไปบนเนื้อผ้าโดยตรง ซึ่งการพิมพ์โดยตรงยังสามารถจำแนกตามเทคนิคได้ดังนี้
การพิมพ์ทับ (Over Printing)
จัดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการพิมพ์ตรง แต่เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่นการพิมพ์ทับเพื่อเป็นการรองพื้นสำหรับผ้าสีเข้ม เพื่อให้สามารถพิมพ์สีอ่อนหรือสีใสพิมพ์ทับด้านบนได้ เป็นต้น
การพิมพ์ดิสชาร์จ (Discharge Printing)
เป็นเทคนิคนี้ใช้กับการพิมพ์ลวดลายบนผ้าที่ถูกย้อมสีมาก่อนแล้ว ซึ่งสีพื้นซึ่งอยู่ในตำแหน่งของลวดลายที่ต้องการพิมพ์ทับจะถูกกำจัดออก โดยใช้สารกำจัดสี(Discharging agent) ทำให้เกิดลวดลายพิมพ์สีขาว ที่เรียกว่า White Discharge สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องการให้เกิดลวดลายสีอื่น ๆ (color discharge) ก็จะทำการเติมสีซึ่งมีคุณสมบัติทนต่อสารกำจัดสีผสมลงไป ดั้งนั้นเมื่อทำการพิมพ์ ลวดลายสีพื้นของผ้าย้อมจะถูกทำลายแต่สีที่เติมลงไปและเข้าไปแทนที่สีที่ถูกกัดออกไป หลังจากนั้นจะต้องนำไปผ่านกระบวนการอบและซักแห้ง เพื่อให้ลวดลายเหล่านั้นปรากฏ
การพิมพ์รีซิส (Resist Printing)
วิธีการนี้นิยมใช้กันในงานพิมพ์ผ้าบาติก เป็นการพิมพ์ลายโดยผสมสารกันสี (Resisting agent) ลงในแป้งพิมพ์ เพื่อป้องกันสีย้อมซึ่งจะถูกย้อมหรือพิมพ์ทับในภายหลัง โดยเราจะเห็นเป็นลวดลายพิมพ์สีขาว (White Resist) ตรงส่วนที่พิมพ์ลายกันสีไว้ หลังจากทำย้อมและนำไปซักเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่เติมสีที่ต้องการผสมลงไปในแป้งพิมพ์พร้อมสารกันสี แล้วจึงพิมพ์ลายก่อนนำไปย้อม จำทำให้ได้ลวดลายที่เป็นสี (Color Resist)
การพิมพ์เบอร์นเอ๊าท์ (Burn-out Printing)
เป็นการทำให้เกิดลวดลายบนเนื้อผ้าที่มีเส้นใยผสม 2 ชนิด อย่างผ้าใยผสมโพลีเอสเตอร์กับผ้าฝ้าย ด้วยการผสมสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำลายเส้นใยผ้าฝ้ายออกจากลวดลายที่พิมพ์ ทำให้เส้นใยผ้าฝ้ายถูกทำลาย ทำให้เหลือเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพียงชนิดเดียว ลวดลายที่ได้จะโปร่ง
2. การพิมพ์แบบอ้อม (Indirect Print)
เป็นเทคนิคการทำให้เกิดลวดลายบนผ้า ที่อาศัยการถ่ายโอนความร้อน (Heat Transfer) ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกันดีในชื่อของ การพิมพ์ทรานเฟอร์หรือการพิมพ์รูปลอก (Transfer or Indirect Printing) สามารถทำได้โดยใช้วิธีการพิมพ์ลายลงบนกระดาษแล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดหรือรีดด้วยความร้อน สีก็จะเคลื่อนตัวจากกระดาษเข้าไปในผ้า ทำให้เกิดลวดลายตามต้องการ
แม่พิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ผ้า
1.บล็อกสกรีน (Screen Frame)
การพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์บล็อกสกรีน เป็นแม่พิมพ์ที่พิมพ์ได้ด้วยมือและเครื่องจักรอัตโนมัติ เป็นแม่พิมพ์ที่เตรียมขึ้นมาจากกรอบบล็อกสี่เหลี่ยม แล้วนำมาขึงด้วยผ้าสกรีน หลังจากนั้น ทำการโค๊ตกาวถ่ายบล็อกเคลือบผ้าสกรีนแล้วนำมาถ่ายด้วยแสง และนำมาพิมพ์ด้วยสีพิมพ์ผ้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งกรอบบล็อกสกรีนนั้น อาจจะทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกันออกไป เช่น ไม้ อลูมิเนียม และ เหล็ก ทั้งนี้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน
2.โมลด์ (Mold)
แม่พิมพ์ชนิดนี้มีลักษณะเหมือนตรายาง เวลาพิมพ์ใช้พิมพ์ด้วยมือ โดยการนำโมลด์ไปจุ่มในสีพิมพ์แล้วนำไปกดลงบนผ้าก็จะได้ลวดลายตามโมลด์นั้น การทำแม่พิมพ์ชนิดนี้ ทำได้โดยแกะส่วนที่ไม่ใช่ลวดลายให้ลึกเข้าไป เหลือไว้เพียงส่วนที่เป็นลวดลายให้เรียบเสมอกัน หรือในกรนีที่ต้องการใช้ สีพลาสติซอล หยอดลงไปในโมลด์ที่ทำเป็นเบ้าไว้ แล้วนำมาอัดความร้อน หลังจากนั้นทำการลอกโมลด์ออก ด้วยวิธีนี้ก็ทำให้ได้สีพิมพ์ผ้าที่มีเนื้อหนาๆ หรือที่เรียกว่า High Density Print
3.โรลเลอร์ (Roller)
แม่พิมพ์ชนิดนี้ลวดลายจะถูกแกะเป็นร่องเล็กๆ ลึกเข้าไปในเนื้อลูกกลิ้ง โดยลวดลายที่แกะนั้นจะอยู่ที่ผิวลูก การพิมพ์ด้วยโรลเลอร์นั้นลวดลายจะเกิดขึ้น จากการที่ลูกกลิ้งหมุนรอบตัวเองผ่านถาดสี ทำให้เนื้อสีเข้าไปขังอยู่ในร่องเล็กๆ ที่แกะไว้ สะอาด ขณะเดียวกันผ้าก็จะถูกป้อนเข้าเครื่องและไปรับสีที่ขังอยู่ในร่องเล็กๆ ดังกล่าว ลวดลายก็จะปรากฏขึ้นบนผ้า และส่วนบริเวณที่ไม่ได้ทำการแกะลวดลายไว้นั้น ใบมีดปาดสีจะปาดจนสะอาด จึงทำให้ไม่ติดสี
4.โรดารีสกรีน (Rotary Screen)
เป็นเทคนิคการพิมพ์ที่สามารถผลิตงานพิมพ์ได้เร็วกว่าการพิมพ์ด้วยบล็อกสกรีน เพราะการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์โรตารีนั้น ผ้าและสกรีนจะทำงานอยู่ตลอดเวลา แม่พิมพ์ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นลูกกลิ้งกลมกลวง โดยสีจะถูกฉีดออกจากข้างในลูกกลิ้ง และมีตัวปาดสีจะทำหน้าที่อยู่ภายในลูกกลิ้ง ขณะเครื่องทำงานพิมพ์ลูกกลิ้งจะหมุนรอบตัวและสีก็จะออกมาตามลวดลายของลูกกลิ้ง และลวดลายก็จะถูกพิมพ์ไปบนผ้าที่วิ่งไปตามสายพาน
ประเภทของสีพิมพ์ผ้า
สีที่ใช้ในการพิมพ์ผ้านั้นมากมายหลายชนิด ซึ่งสีแต่ะละประเภทก็มีข้อจำกัดในการใช้งานแตกต่างกันไป เช่น สีไดเร็กท์ (Direct Dyes) สีแว็ต (Vat Dyes) สีดิสเพิส (Disperse Dyes) สีรีแอ็คทีฟ (Reactive Dyes) สีซัลเฟอร์ (Sulper Dyes) สีเบสิค (Basic Dyes) สีอะโซอิค (Asoic Dyes) สีแอสิค (Acid Dyes) และสีพิกเม้นท์ (Pigment Dyes) ซึ่งจากประเภทของสีที่ใช้ในงานพิมพ์ผ้าที่กล่าวมาข้างต้นนั้น พบว่าเป็นสีที่มีขอบข่ายการใช้งานมากที่สุด นั่นก็คือ สีพิกเม้นท์ ซึ่งเป็นสีที่สามารถใช้พิมพ์บนเส้นใยได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์
สีพิกเม้นท์ (Pigment dyes)
สีพิกเม้นท์มีคุณสมบัติที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้นสีจึงกระจายตัวอยู่ในน้ำไม่รวมตัวกับน้ำ ทำให้สีที่พิมพ์เกาะเส้นใยไว้เท่านั้นไม่สามารถซึมเข้าสู่เส้นใยของผ้าได้ ดังนั้นจึงต้องมีสารมาช่วยในการยึดติด นั่นก็คือ ไบเดอร์ (Binder) ดังนั้นการเตรียมแป้งพิมพ์สำหรับงานสีประเภทนี้จึงจำเป็นต้องมีสีพิกเม้นท์และไบเดอร์เป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากสีพิกเม้นท์จะไม่ละลายน้ำแล้ว ยังเป็นสีที่ไม่ละลายในน้ำมันไวท์สปิริต (White Spirit) น้ำมันก๊าด (Kerosone) ) และในตัวทำลายที่ใช้ในการซักแห้ง (Dry Cleaning Sovent) ดังนั้นสีพิกเม้นท์ที่เหมาะสำหรับงานพิมพ์ ควรมีคุณสมบัติคงทนต่อแสง ต่อการซัก คลอรีน ด่าง เหงื่อ ต่อการขัดถู นอกจากนี้สีพิกเม้นท์ยังสามารถแบ่งย่อยตามลักษณะของแป้งพิมพ์ได้ดังนี้
- แป้งนูน (Puff Paste)
พื้นผิวของงานพิมพ์จะด้านไม่เงางามมีความยืดหยุ่นเพียงเล็กน้อย เนื้อสีจะสามารถฟูตัว ดูมีเนื้อหนาขึ้นได้ เมื่อใช้ความร้อนอบหรือรีด
- แป้งจม (Pigment Print Paste)
เป็นลักษณะงานพิมพ์ที่เมื่อพิมพ์แล้วเนื้อสีจะแทรกอยู่ระหว่างเส้นใยของผ้า
- แป้งลอย (Matt Paste)
พื้นผิวงานพิมพ์จะมีความด้านไม่มีเงา การยืดหยุ่นมีน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย เนื้อสีสามารถลอยตัวอยู่บนผ้าสีเข้มได้ดี
- แป้งยาง (Elastic Print Paste)
งานพิมพ์ชนิดนี้จะได้เนื้อสีที่มีลักษณะเป็นฟิล์มเงา ยืดหยุ่นได้ และลอยตัวอยู่บนผิวผ้า
สีพิกเม้นท์เหมาะสำหรับใช้กับงานพิมพ์ ซึ่งได้แก่ผ้าชิ้นและผ้าหลาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้สามารถแบ่งชนิดของสีสำหรับงานผ้าชิ้น ตามชนิดของสีเคมีสูตรต่างๆ ดังนี้
- เคมีสูตรน้ำ (Water Based System)
สำหรับเคมีฐานน้ำที่ใช้ในงานพิมพ์เราจะเรียกว่า สีระเหิด ซึ่งเป็นสีที่นิยมในการพิมพ์ตรง (Sublimation) โดยเคมีสูตรน้ำนั้นจะหมายถึง แป้งพิมพ์ประเภทต่างๆ เช่น แป้งจม แป้งยาง แป้งลอย และแป้งนูน เป็นต้น ที่เตรียมขึ้นมาโดยใช้เคมีที่มีฐานน้ำ
- เคมีสูตรน้ำมัน (Solvent Based System)
เป็นสีที่นิยมใช้ในการพิมพ์ตรงและพิมพ์อ้อม ใช้สำหรับงานพิมพ์ผ้าที่ต้องการการยึดเกาะสูง เช่น ผ้าร่ม ผ้ากระเป๋า โดยเคมีสูตรน้ำมันนั้นจะหมายถึง สีที่เตรียมขึ้นมาจากเคมีฐานน้ำมัน ซึ่งเราจะเรียกว่า ”สีน้ำมัน”
- เคมีสูตรพลาสติซอล (Plastisol System)
เป็นสีที่ใช้ในงานพิมพ์ตรงและพิมพ์อ้อม เช่นเดียวกันกันเคมีสูตรน้ำมัน แต่ต่างกันที่เคมีสูตรพลาสติซอลนั้นเป็นสีพิมพ์เตรียมขึ้นมาโดยใช้เคมีที่มีฐานน้ำมันที่มีพลาสติกเป็นองค์ประกอบร่วม ซึ่งแป้งพิมพ์ของพลาสติซอลนั้น เรียกว่า Extender Base โดยจะเป็นแป้งพิมพ์ที่มีดูเหมือน จม ลอย ยืดหยุ่น และนูน ได้เหมือนกับแป้งพิมพ์ในเคมีฐานน้ำ
ประเภทของของผ้าที่ใช้ในงานพิมพ์
ผ้าที่ถูกนำมาใช้ในการพิมพ์สกรีนนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- ผ้าชิ้น
หมายถึง ผ้าที่ตัดออกมาเป็นชิ้นแล้ว ซึ่งก็หมายรวมถึงเสื้อสำเร็จรูปที่ถูกตัดเย็บเป็นตัวแล้วเช่นกัน สำหรับการพิมพ์บนผ้าชิ้นนั้นจะมีทั้งการพิมพ์ด้วยมือและพิมพ์โดยเครื่องอัตโนมัติ โดยงานพิมพ์บนผ้าชนิดนี้ค่อนข้างมีความหลากหลายมากกว่างานพิมพ์บนผ้าหลา
- ผ้าหลา
หมาย ถึงผ้าเป็นม้วน (ผ้าม้วน) หรือที่เรียกว่าผ้าหลา งานพิมพ์บนผ้าหลานี้จัดเป็นงานพิมพ์ที่ใช้ได้กับวิธีการพิมพ์ได้ทุกประเภทไม่วาจะเป็นงานพิมพ์ด้วยมือหรืองานพิมพ์ด้วยเครื่องอัตโนมัติ