แปรงปาดสี

เรียนรู้เทคนิคของการเลือกใช้งานจากยางปาดสี

การที่จะผลิตงานพิมพ์สกรีนผ้าให้งานออกมาดีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบล็อกสกรีนที่ดีเพียงอย่างเดียว ยังมีอุปกรณ์และเทคนิคอีกหลายอย่างที่จะทำให้งานพิมพ์สกรีนออกมามีคุณภาพและตรงตามรูปแบบที่ต้องการ ยางปาดสี เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญในงานพิมพ์สกรีน  เพราะยางปาดสีจะทำหน้าที่ในการเกลี่ยสีให้ลอดผ่านรูผ้าสกรีนไปได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องใช้แปรงปาดสีที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงาน นอกจากนี้ยางปาดสีที่ดีก็ควรที่จะมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของหมึกพิมพ์สกรีน ทนทานต่อน้ำมัน และสารเคมีอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น และด้วยคุณสมบัติของยางปาดสีที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านวัสดุที่ใช้ทำ ความแข็ง และรูปทรงที่หลากหลาย เราจึงต้องพิจารณาเลือกใช้ยางปาดสีเหมาะเหมาะกับงานพิมพ์แต่ละประเภท เพื่อให้ได้งานพิมพ์สกรีนที่ดีที่สุด

 

วัสดุที่ใช้ทำยางปาดสี ( Material of Squeegees ) โดยทั่วไป การเลือกใช้ยางปาดในงานพิมพ์สกรีน จะต้องคำนึงถึงลักษณะและประเภทของงานพิมพ์ สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตแปรงปาดสี สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

 

1.ยางธรรมชาติ (Natural Rubber)

จัดว่าเป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำยางปาดสีกันในช่วงแรกของการพิมพ์ผ้า และเนื่องจากยางชนิดนี้ทำมาจากน้ำยางธรรมชาติ จึงมีโครงสร้างไม่แข็งมากนัก โดยเนื้อยางจะมีสีขุ่นทึบ ซึ่งสีของเนื้อยางเดิมจะมีสีขาว หรือบางแห่งอาจมีการผสมสีลงในเนื้อยางก่อนนำไปอบแห้ง แต่เนื่องจากยางปาดสีที่ทำมาจากยางธรรมชาติมีข้อจำกัดในเรื่องของการใช้งานบางอย่าง เช่น เนื้อยางที่เกิดการสึกหรอได้ง่าย ไม่เหมาะกับงานพิมพ์ที่มีความคมชัดและความละเอียดสูง การลับคมยางทำได้ยากขึ้น ทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากเนื้อยางที่นิ่ม นั่นเอง

 

2.ยางสังเคราะห์ (Neoprene Rubber)

ยางชนิดนี้นิยมนำมาใช้ทำยางปูพื้น ปะเกน หรือยางพื้นรองเท้าเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากยางปาดสีที่ทำมาจากยางสังเคราะห์ (Neoprene) เนื้อยางชนิดนี้จึงมีคุณสมบัติที่แข็งแต่เปราะกว่ายางธรรมชาติและถึงแม้จะมีการพยายามนำยางสังเคราะห์นี้มาดัดแปลงเพื่อใช้ทำยางปาดสี แต่ประสิทธิภาพก็ยังไม่ดีพอ

 

3.โพลิยูรีเทน (Polyurethane Rubber)

ด้วยความพยายามที่จะนำวัสดุมาเพื่อทดแทนยางยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ต่อมาจึงได้มีการนำเอายางโพลียูรีเทนมาใช้เพื่อทำยางปาดสี และได้รับผลลัพธ์ที่ดีมาก ด้วยคุณสมบัติของโพลิยูรีเทนในด้านความเหนียวและมีความแข็งให้เลือกหลายระดับ จึงส่งผลให้เนื้อยางมีความยืดหยุ่นและสปริงตัวดี รวมถึงความสามารถในการทนกรดและด่างได้ดี มีความทนทานต่อการใช้งานสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการนำยางชนิดนี้มาเพื่อใช้ทำยางปาดสีทุกประเภท

 

ปัจจัยในการเลือกความแข็งของยางปาดสีในงานพิมพ์ผ้า

ในการเลือกใช้ยางปาดสีเพื่อให้เหมาะกับงานพิมพ์นั้น จะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1. สีหรือหมึกพิมพ์

สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในการเลือกยางปาดสีนั่นก็คือ การไหลตัวของสี ซึ่งสีจะมีการไหลตัวได้ดีนั้นก็โดยการใช้ยางปาดสีที่มีความนิ่มหรือแข็งที่ไม่มากจนเกินไป และที่สำคัญไปกว่านั้นความข้นเหลวและความหนืดของสีก็มีส่วนในการเลือกความแข็งของยางปาดสีด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปนั้นหากสีที่มีความข้นและความหนืดสูง ยางปาดสีก็ต้องมีความแข็งด้วยเช่นกัน คือจะต้องมีระดับความแข็ง 70A ถึง 80A และถ้าหากสีมีความข้นและความหนืดต่ำ สามารถเลือกใช้ยางปาดสีที่มีความแข็งระดับที่ 50A ถึง 60A ก็ถือว่าเพียงพอที่จะปาดสีให้ผ่านรูผ้าสกรีนได้

 

2.ความละเอียดของผ้าสกรีนและผ้าที่ต้องการพิมพ์

จัดว่าเป็นปัจจัยที่กำหนดความแข็งของยางปาดสีที่ใช้ในงานพิมพ์ผ้า ถ้าผ้าสกรีนมีพื้นผิวของผ้าที่ต้องการพิมพ์เรียบและมีความละเอียดสูง ควรเลือกยางปาดที่มีระดับความแข็งอยู่ระหว่าง 80A และ 90A ซึ่งเป็นยางปาดที่มีความแข็งมาก โดยความแข็งระดับที่นี้เหมาะสำหรับสีพิมพ์ผ้าสูตรน้ำมัน สูตรพลาสติซอล และสูตรซิลิโคน ส่วนบล็อกสกรีนที่เตรียมมาจากผ้าสกรีนที่ต้องการพิมพ์มีผิวที่ไม่เรียบและความละเอียดที่ไม่มาก ควรเลือกใช้ยางปาดที่มีระดับความแข็งอยู่ระหว่าง 60A และ 70A ซึ่งเป็นยางปาดที่มีความแข็งต่ำ โดยทั่วไปนั้นความแข็งของยางปาดสีระดับนี้เหมาะสำหรับสีพิมพ์ผ้าสูตรน้ำ

 

3.เครื่องพิมพ์ผ้า

ยางปาดสีที่นิ่มมักจะเหมาะกับการพิมพ์ผ้าด้วยมือหรือเครื่องพิมพ์ผ้ากึ่งอัตโนมัติ ที่มีความเร็วต่ำและใช้แรงกดไม่สูง ในขณะที่การพิมพ์ผ้าด้วยเครื่องพิมพ์อัตโนมัติจะพิมพ์ด้วยความเร็วสูงจะเกิดแรงเสียดทานสูงในระหว่างการพิมพ์ จึงควรใช้ยางปาดที่มีความแข็งสูง ซึ่งสามารถทนต่อแรงเสียดทานได้ดี เพราะความแข็งของยางปาดสีจะมีอิทธิพลต่อปริมาณของสีพิมพ์ที่พิมพ์ลงบนผ้า ในขณะที่ยางปาดที่นิ่มจะทำให้การปาดสีพิมพ์ลงบนผ้า ทำได้หนากว่ายางปาดที่แข็ง  ดังนั้นลายพิมพ์ที่ต้องการสีลงน้อยควรเลือกใช้ยางปาดสีที่แข็งและลายพิมพ์ที่ต้องการให้สีลงมากจึงควรเลือกใช้ยางปาดที่นิ่ม นั่นเอง

 

ความแข็งของยางปาดสี (Durometer)

การเกลี่ยสีเพื่อให้สีไหลผ่านผ้าสกรีนนั้น ปริมาณสีที่ไหลผ่านจะมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งหรืออ่อนของยางปาดสี ดั้งนั้นจึงมีการกำหนดค่าความแข็งของยางปาดสี เพื่อการเลือกใช้ยางปาดสีที่เหมาะกับงานพิมพ์สกรีน โดยการกำหนดหน่วยของความแข็งของยางปาดสี เป็น Shore A โดยทั่วไปนั้นค่าความแข็งของยางปาดสีจะอยู่ระหว่าง 50 Shore A ถึง 95 Shore A และเพื่อเป็นการแบ่งยางปาดสีออกเป็นความแข็งที่ระดับต่างๆ จึงได้มีการผสมสีลงไปในยางปาดสีด้วย

 

การวัดค่าความแข็งของยางปาดสีนั้นจะใช้เครื่องมือที่ เรียกว่า  Durometer Gauge มีลักษณะคล้ายกับเครื่องวัดความตึงของผ้าสกรีน (Tension Meter) ซึ่งลักษณะการทำงานของเครื่องจะเป็นการใช้หัวเข็มเล็ก แทงเข้าไปในเนื้อวัสดุและอ่านค่าความแข็งของยางปาดสีจากสเกลบนหน้าปัด โดยยางปาดสีที่มีความแข็งมากขึ้นก็มีค่า Shore Hardness สูงขึ้น ดังที่ได้แสดงในตารางต่อไปนี้

 

ค่าความแข็ง

ระดับความแข็ง

60 A

นิ่ม (Soft)

70 A

ปานแกลาง (Medium)

80 A

แข็ง (Hard)

90 A

แข็งมาก (Extra Hard)

 

ขนาดของยางปาดสี

ความหนาของเนื้อยางที่ใช้ในงานพิมพ์ผ้าโดยทั่วไปแล้วจะมีอยู่ 2 ขนาด คือ 7 มิลลิเมตร และที่ 9 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าหากเป็นงานพิมพ์ผ้าสูตรน้ำจะใช้ความหนาของยางที่ขนาด 7 มิลลิเมตร และถ้าเป็นงานพิมพ์ผ้าสูตรพลาสติซอลและซิลิโคนจะใช้ ความหนาของยางที่ขนาด 9 มิลลิเมตร ทั้งนี้ก็เพราะว่าสีสูตรน้ำเป็นสีที่มีเนื้อไม่ข้น และไม่มีความหนืดสูงเหมือนกับ          สีพลาสติซอลและสีซิลิโคน จึงสามารถใช้ขนาดของเนื้อยางที่บางกว่าและนิ่มกว่าได้

 

ในส่วนของการเลือกด้ามแปรงปาดสีกับขนาดของยางปาดสีที่จะใช้งานพิมพ์ หากเป็นด้ามแปรงอลูมิเนียมจะมีเกลียวและนอตสำหรับหนีบยาง ซึ่งจะทำให้หนีบยางได้แน่นกว่าแปรงปาดสีด้ามไม้  โดยจะต้องใช้ยางปาดสีที่มีความกว้างของหน้ายาง 4 ซม. หลังจากที่ใส่ยางปาดสีลงในด้ามแปรงอลูมิเนียมแล้ว จะมีเนื้อยางโผล่ออกมา 3 ซม. ส่วนแปรงปาดสีด้ามไม้สักจะต้องเลือกใช้ยางปาดสีที่มีความกว้างของหน้ายาง 5 ซม. นั่นเป็นเพราะว่าด้ามไม้สักไม่มีแรงหนีบยาง จึงต้องให้เนื้อยางจมลึกลงไป มากกว่าด้ามอลูมิเนียม แล้วเหลือส่วนที่เป็นเนื้อยางให้โผล่ออกมา 3 ซม. เช่นกัน

 

การเลือกใช้ยางปาดสีเพื่อให้เหมาะกับงานพิมพ์ผ้า จะต้องพิจารณาจากปัจจัยในเรื่องต่างๆ นอกจากยางปาดสีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความยาวของแปรงปาดสีที่จะนำไปใช้งาน โดยความยายของแปรงที่เหมาะสมกับงานนั้น จะต้องมีขนาดของแปรงที่ใหญ่กว่าลายพิมพ์ อย่างน้อยด้านละ 1 ซม. และขอบของแปรงปาดสีจะต้องไม่ไปชิดกับกรอบในของบล็อกมากเกินไปด้วย    

 

ใบมีดยางปาดสี (Squeegee Blade)

ใบมีดของยางปาดสีคือส่วนปลายของยางปาดสีที่ต้องสัมผัสกับหมึกพิมพ์ ซึ่งใบมีดของยางปาดสีจะมีลักษณะรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป โดยลักษณะของใบมีดที่ต่างกันนี้จะส่งผลต่อการปาดสีที่ไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วใบมีดยางปาดสีที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป จะมี 3 แบบ  ดังนี้

 

                                                                    

 

1.ใบมีดที่มีปลายแหลม (Beveled Blade)

เป็นใบมีดยางปาดที่มีปลายแหลม แบ่งเป็นสองลักษณะ คือปลายแหลมรูปตัววีและปลายแหลมตัดทแยง ซึ่งใบมีดลักษณะนี้จะนิยมใช้ในพิมพ์งานที่ไม่ต้องการความคมชัดหรือความบาง โดยใบมีดรูปตัววีจะนิยมใช้ในงานพิมพ์ผ้า โดยจะใช้ใบมีดรูปตัววีในการพิมพ์งานประเภทสียางหรือสีพิมพ์ฐานน้ำเท่านั้น ส่วนใบมีดรูปปลายแหลมตัดทแยงจะใช้ในงานพิมพ์ ซีดี ไม่ใช้ในงานพิมพ์ผ้าเลย เนื่องจากปลายแหลมของใบมีดที่ช่วยให้สามารถเกลี่ยสีไปมาได้ตามที่ต้องการอย่างง่ายดาย จึงทำให้ใบมีดลักษณะนี้ใช้พิมพ์งานได้ง่ายที่สุด แต่ปลายแหลมบางของใบมีดจะไม่แข็งแรงทำให้ การลากหรือช้อนสีกลับที่เดิมจึงทำได้ไม่มากเหมือนใบมีดรูปสี่เหลี่ยม

 

2.ใบมีดที่มีปลายมน (Round Blade)

ใบมีดยางปาดสีที่มีรูปทรงกลมมน (Rounded หรือ Radial Blade) จัดว่าเป็นใบมีดที่ทำให้สีพิมพ์ไหลผ่านผ้าสกรีนได้มากกว่าใบมีดชนิดอื่นๆ เพราะใบมีดสัมผัสกับผ้าสกรีนได้ไม่แนบสนิทเหมือนกันยางปาดสีหน้าตัดและสี่เหลี่ยม อีกทั้งยังไม่สามารถช้อนสีกลับที่เดิมได้ดีอีกด้วย ทำให้มีเนื้อสีค้างอยู่ที่รูผ้าสกรีน เหมาะกับการพิมพ์สกรีนที่ต้องการให้มีเนื้อสีหนาๆ ซึ่งใบมีดลักษณะนี้นิยมใช้กับสีพิมพ์ทุกประเภทที่ต้องการให้มีเนื้อสีหนา ไม่ว่าจะเป็นสีพลาสติซอล สียาง หรือสีซิลิโคน

 

3.ใบมีดที่มีรูปหน้าตัดขวาง (Cross-section Blade) 

เป็นใบมีดของยางปาดสีที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม (Square) ใช้กับงานพิมพ์งานที่ต้องความคมและบาง เป็นใบมีดลักษณะที่ช่วยให้รีดสีให้ลอดผ่านผ้าสกรีนได้ดี และใบมีดชนิดนี้ยังสามารถช้อนสีกลับมายังที่พักสีได้ดี นิยมใช้กับงานพิมพ์สีพลาสติซอลและสีซิลิโคน เพราะสีทั้งสองประเภทนี้จะมีความหนืดของสีมากกว่า ซึ่งใบมีดลักษณะนี้จะก่อให้เกิดแรงต้านความหนืดของสีได้ดีกว่า โดยทั่วไปแล้วสามารถนำใบมีดไปพิมพ์สกรีนทั้งในแนวตรงของใบมีดและใช้มุมของใบมีดพิมพ์ ถ้าหากพิมพ์ในแนวตรงโดยที่ปลายใบมีดตั้งฉากกับผ้าสกรีน ก็จะเกิดแรงกดที่ดีกว่าการพิมพ์โดยใช้มุมเหลี่ยมของใบมีด

 

ขั้นตอนการบำรุงรักษายางปาดสี

การดูแลรักษายางปาดสีที่ดี ตลอดจนการใช้งานอย่างถูกวิธีและตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานของอยางแต่ละประเภท ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้งานพิมพ์ออกมามีคุณภาพ และทั้งยังเป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆได้ดี

 

1.การดูแลรักษาระหว่างการใช้งาน

ควรทำการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวยางปาดสีให้บ่อยขึ้นเท่าที่ทำได้ หรืออย่ารอจนเครื่องและสารเคมีกัดกร่อนจนทำให้ความคมนั้นหมดไป หรือใช้อันใหม่แทนโดยนำอันที่ถูกใช้แล้ววางราบกับพื้น ประมาณ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ควรเลือกใช้ยางปาดสีที่มีความหนาที่เหมาะสมกับเครื่อง ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการติดแน่นของใบมีดและด้ามจับ หรือหากด้ามจับถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้ได้กับขนาดของยางปาดที่ต่างกัน ก็จะช่วยลดปัญหาในการลับ รวมถึงแรงกดได้เช่นกัน

 

2.การทำความสะอาด

การทำความสะอาดยางปาดสีทำได้โดยเอาหมึกที่ติดบนยางปาดออกด้วยการ์ดบอร์ด หรือเศษผ้านุ่มๆ ให้เช็ดยางปาดด้วยผลิตภัณฑ์หรือน้ำยาเคมีที่เหมาะสม ทั้งนี้จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ทำลายเนื้อยาง โดยเฉพาะทินเนอร์

หลังจากทำความสะอาดยางปาดแล้ว ควรปล่อยให้สารเคมีระเหยให้หมด ก่อนจะนำมาใช้ใหม่หรือก่อนที่จะนำไปลับคมอีกครั้ง

 

3.การลับคม

เพื่อการพิมพ์ที่คมชัด จึงจำเป็นต้องทำให้ยางปาดมีความคมสม่ำเสมอ ในการลับคมใบมีดนั้น ไม่ควรใส่ยางปาดหลายชิ้นในการลับแต่ละครั้ง จะต้องทำการลับคมเฉพาะยางปาดสกรีนที่แห้งแล้วเท่านั้น ไม่ควรลับคมยางปาดขณะที่เปื้อนสารเคมี และไม่ควรเช็ดทำความสะอาดหรือล้างด้วยน้าร้อน

 

4.การจัดเก็บ / อายุการใช้งาน

ควรเก็บรักษายางปาดสีไว้ในสถานที่แห้งและอุณหภูมิที่เย็น ปลอดแสง หากจัดเก็บยางปาดไว้ในสถานที่หรือห้องที่มีอุณหภูมิสูงและมีความชื้น อาจจะส่งผลให้ความหนา ความแข็งของยางปาดสีนั้นเสื่อมได้ ในกรณีที่ต้องมีการจัดเก็บยางปาดสีในระยะสั้น หรือระยะยาว ควรจัดเก็บโดยการวางบนพื้นที่เรียบ ไม่ควรม้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนใช้งาน

Previous article ไขปัญหาการพิมพ์สกรีนที่มักเกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน
Next article เทคนิคการพิมพ์ผ้ากีฬา