9 เทคนิคกับการทำบล็อกสกรีนให้มีคุณภาพ

9 เทคนิคกับการทำบล็อกสกรีนให้มีคุณภาพ

 

รูปทรงและแบบของบล็อกสกรีนถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้งานพิมพ์ออกมาดี  วัสดุที่ใช้ในการทำบล็อกก็มีส่วนทำให้งานพิมพ์ออกมาดี ซึ่งการทำบล็อกสกรีนให้มีคุณภาพถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งของงานสกรีน  ซึ่งการเลือกกรอบบล็อกไม้ที่ได้รับความนิยมในการมาทำเป็นบล็อกสกรีนเสื้อมากที่สุดก็คือ ไม้สัก นั่นเป็นเพราะเนื้อจากไม้สักก็เป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่หดตัว ไม่บิด ไม่แอ่นหรือโก่งงอ ทำให้กรอบบล็อกไม้สักมีคุณสมบัติคือความแข็งแรงและทนกว่าไม้ธรรมดา มาดู 9 เทคนิคการทำบล็อกสกรีนออกมาให้มีคุณภาพกันดีกว่า 

     

1.การวางตำแหน่งลายบนบล็อกสกรีน

เนื่องจากแรงตึงของผ้าสกรีนบริเวณใกล้กับขอบบล็อกสกรีน  จะมีความตึงมากกว่าบริเวณอื่นๆ ดังนั้น ในการวางตำแหน่งลายบนพิมพ์บล็อกสกรีน ก็ควรที่จะจัดวางตำแหน่งลายพิมพ์บนบล็อกสกรีนให้อยู่ในจุดกึ่งกลางของบล็อกสกรีนเสมอ โดยจะต้องเหลือขอบของลายพิมพ์สกรีนให้ห่างจากขอบด้านข้างทั้งสองข้างและด้านบนไม่ต่ำกว่า 2.5 นิ้ว ส่วนด้านล่างที่เป็นส่วนของพื้นที่พักสีของลายสกรีน จะต้องเหลือขอบไม่ต่ำกว่า 4 นิ้ว ซึ่งถ้าหากเหลือพื้นที่ขอบของลายพิมพ์บนบล็อกสกรีนไว้น้อยกว่านี้ ก็อาจจะทำให้ทำลายพิมพ์ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ

 

2.เทคนิคการโค้ตกาวถ่ายบล็อกให้เรียบเนียน

การโค้ตกาวถ่ายบล็อกให้เรียบเนียนนั้น จัดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บล็อกสกรีนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการโค้ตกาวถ่ายบล็อกบนผ้าสกรีนจะมีความยากง่ายต่างกันออกไป ตามแต่ความถี่ห่างของผ้าสกรีน โดยผ้าที่มีความถี่ของเนื่อผ้าสกรีน จะสามารถทำการโค้ตกาวถ่ายบล็อกผ้าสกรีนได้ง่ายกว่าผ้าสกรีนที่มีความห่างของผ้า ซึ่งการโค้ตกาวถ่ายบล็อกบนผ้าสกรีนที่มีรูผ้าสกรีนห่าง หรือมีความห่างของเส้นใยมากๆ เช่น ผ้าสกรีนพิมพ์กากเพชร ตามปกติแล้วจะต้องโค้ตกาวมากรอบกว่า และจังหวะในการรูดรางปาดกาวขึ้น ก็ต้องทำอย่างช้าๆแต่สม่ำเสมอ หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านั้น ก็ควรจะใช้กาวถ่ายบล็อกโดยเฉพาะ โดยเลือกใช้กาวถ่ายบล็อกหนาแทนการใช้กาวถ่ายบล็อกทั่วไป เพราะกาวถ่ายบล็อคชนิดนี้จะช่วยปิดรูถ่างของผ้าสกรีนได้ง่าย และในทันทีที่ทำการโค้ตกาวรอบแรก  ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้มากขึ้นนั่นเอง อุปกรณ์สำคัญในการโค้ตกาวถ่ายบล็อกให้เรียบเนียนนั้นก็คือรางปาดโค้ตกาวที่มีคุณภาพ ปากรางปาดตัดตรงสม่ำเสมอ ไม่มีฟันปลา เหมาะกับมือ รวมทั้งยังต้องมีขนาดยาวพอดีกับหน้าผ้าสกรีนที่ขึงแล้วในบล็อก โดยการโค้ตกาวนั้นจะต้องโค้ตจากด้านล่างขึ้นด้านบนด้วยความเร็วและแรงกดรางปาดกาวที่สม่ำเสมอ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ความชำนาญของผู้ที่ทำการโค้ตกาว ซึ่งต้องได้รับการฝึกฝนและมีทักษะในการทำด้วยเช่นกัน

 

3.เทคนิคการทำบล็อกหนา

การพิมพ์งานให้หนาขึ้นนั้นสามารถทำได้โดย การเพิ่มความหนาให้แก่บล็อกสกรีน ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธีดังนี้

 

ใช้กาวถ่ายบล็อกโดยเฉพาะ

การใช้กาวถ่ายบล็อกโดยเฉพาะเช่น การใช้กาวถ่ายบล็อกหนา SK-G โค้ตลงบนผ้าสกรีน จะช่วยให้โค้ตกาวได้หนาและสะดวกมากขึ้น และเมื่อนำไปถ่ายแสง ก็จะช่วยให้การล้างลายทำได้ง่ายขึ้น เช่นกัน

 

ใช้ฟิล์มถ่ายบล็อกสำเร็จรูป

การใช้ฟิล์มถ่ายบล็อกสำเร็จรูปโดยการติดฟิล์มถ่ายบล็อกสำเร็จรูปบนด้านหลังบล็อก ซึ่งวิธีนี้อาจจะต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น และแผ่นฟิล์มที่ใช้ปะติด อาจจะมีความทนทานไม่มากนัก

โค้ตกาวถ่ายบล็อกด้านหลังบล็อก

การใช้ฟิล์มถ่ายบล็อกสำเร็จรูปหรือด้านที่สัมผัสกับแป้นพิมพ์สกรีน ในจำนวนรอบที่มากขึ้น วิธีนี้จะต้องทำการโค้ตกาวโดยให้ปาดกาวจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน ในลักษณะทิศทางเดียว โดยการรูดรางปาดกาวอย่างช้า และกาวที่เตรียมไว้สำหรับการโค้ต ควรเป็นกาวที่ความเข้มข้นสูงซึ่งก็จะช่วยให้กาวมีความหนา และไม่ต้องทำการโค้ตกาวมากรอบอีกด้วย แต่วิธีนี้อาจจะทำให้การถ่ายแสงล้างลายทำได้ยาก

 

4.เทคนิคการถ่ายบล็อกอย่างง่าย

สำหรับการถ่ายบล็อกโดยใช้แสงอาทิตย์ก็อาจจะทำได้ แต่ก็อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่นเราไม่สามารถเปิด-ปิด แสงอาทิตย์ได้ตามต้องการ จัดว่าเป็นแสงที่ไม่นิ่ง และต้องอาจจะต้องรอเวลาที่แสงแดดมีกำลังแสงมากพอ ซึ่งเงื่อนไขที่กล่าวมานั้นทำให้การถ่ายบล็อกโดยใช้แสงอาทิตย์อาจจะทำได้ แต่ก็จะยากกว่าการถ่ายบล็อกโดยใช้หลอดนีออน ส่วนการบล็อกโดยใช้แสงนีออนนั้นสามารถทำได้ง่าย เพราะแสงนีออนนั้นมีอยู่ทั่วไป เพียงแต่คุณจะจัดวางแสงนีออนให้อยู่ในตำแหน่งใด ไม่ว่าจะจัดแสงนีออนให้อยู่เหนือบล็อกหรือใต้บล็อกก็สามารถถ่ายได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในการถ่ายบล็อกด้วยแสงนีออนก็คือ ไม่ควรให้บล็อกที่โค้ตกาวแล้วโดนแสงที่ไม่ได้ใช้ในการถ่ายบล็อก เพราะอาจจะทำให้ไวแสง ซึ่งบางส่วนจะไปทำปฏิกิริยากับแสงก่อน ทำให้การถ่ายบล็อกนั้นทำได้ยากขึ้น

 

5.ปัจจัยในเรื่องแสงสำหรับการถ่ายบล็อกสกรีน

กำลังแสงจัดว่าเป็นตัวแปรที่มีผลโดยตรงในการถ่ายบล็อกสกรีน ซึ่งตู้ถ่ายบล็อกที่มีกำลังแสงน้อยก็ต้องใช้เวลาในการถ่ายบล็อกมากกว่าตู้ถ่ายบล็อกมีกำลังแสงมาก และนอกจากนี้การใช้น้ำยาไวแสงสำหรับเติมลงไปในกาวถ่ายบล็อกสกรีนก็มีผลต่อระยะเวลาที่ใช้ในการถ่ายบล็อกสกรีนด้วยเช่นกัน โดยการเติมน้ำยาไวแสงในปริมาณที่มากก็จะทำให้ใช้เวลาถ่ายน้อยลง ตรงกันข้ามหากเติมน้ำยาไวแสงลงไปในกาวถ่ายบล็อกในปริมาณที่น้อยก็ต้องใช้เวลาถ่ายแสงมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

 

6.เพิ่มความทนทาน ด้วยการเคลือบบล็อกสกรีน

เทคนิคการเพิ่มความทนทานให้กับผ้าสกรีนโดยการเคลือบบล็อกนั้น สามารถใช้น้ำยาไวแสงเคลือบบล็อกได้เลย วิธีนี้สามารถทำการเคลือบบนกาวถ่ายบล็อกได้ทุกชนิด วิธีเคลือบบล็อกสกรีนทำได้โดยใช้ผ้าชุบน้ำยาไวแสงเช็ดด้านหน้าและด้านหลังบล็อก เป่าให้แห้ง หลังจากนั้นให้นำไปถ่ายแสงที่ตู้ถ่ายบล็อก หรือนำไปตากแดดก็ได้ การถ่ายแสงหรือการถ่ายบล็อกนั้นจะเป็นวิธีที่ทำให้น้ำยาไวแสงไปทำปฏิกิริยากับแสง ซึ่งจะทำให้กาวถ่ายบล็อกแข็งแกร่งและทนทานต่อการพิมพ์สกรีนได้สูง แต่ข้อจำกัดของการเพิ่มความทนทานด้วยวิธีนี้ก็คือ คุณจะไม่สามารถล้างกาวถ่ายบล็อกออก เพื่อนำบล็อกสกรีนกลับมาถ่ายลายใหม่ไม่ได้ ทำได้เพียงการขึงผ้าสกรีนใหม่เท่านั้น

 

7.เคลือบบล็อกกับปัญหาผ้าสกรีนขาด

วัตถุประสงค์ในการเคลือบบล็อกสกรีน มีอยู่ 2 ข้อคือ

การเคลือบเพื่อให้บล็อกสกรีนทนต่อสีพิมพ์สกรีนสูตรน้ำ

ผ้าสกรีนที่ใช้ในการพิมพ์สกรีนสีพิมพ์สกรีนสูตรน้ำจะเป็นผ้าสกรีนเส้นใหญ่ และมีรูผ้าสกรีนระหว่าง 100-135 รู/นิ้ว ซึ่งการเคลือบแบบนี้นิยมเคลือบบนกาวถ่ายบล็อกสีฟ้าและกาวถ่ายบล็อกสีม่วง เมื่อถูกเคลือบบล็อกทีมีสภาวะเป็นกรด ผ้าสกรีนเหล่านี้จะทนทานต่อสภาวะกรดดังกล่าวได้ ผ้าก็จะไม่ขาด

 

การเคลือบบล็อกให้ทนทานต่อการใช้งานอย่างถาวร

การเคลือบบล็อกให้ทนทานต่อการใช้งานอย่างถาวร ซึ่งในการเคลือบบล็อกสกรีนในลักษณะนี้จะสามารถเคลือบได้กับกาวทุกประเภท โดยเป็นวิธีที่ใช้น้ำยาไวแสงในการเคลือบแทน และยังสามารถเคลือบที่กาวถ่ายบล็อกสีชมพูได้โดยที่ผ้าสกรีนไม่ขาด

 

ซึ่งสาเหตุที่เคลือบบล็อกแล้วผ้าสกรีนขาด อาจจะมีสาเหตุมาจากน้ำยาเคลือบบล็อกที่เคลือบบนสกรีนที่มีเส้นใยเล็กบาง แต่ส่วนใหญ่แล้วผ้าสกรีนชนิดนี้มักจะถูกใช้กับกาวถ่ายบล็อกสีชมพู ซึ่งถือว่าเป็นการเคลือบบล็อกผิดประเภทนั่นเองเพราะโดยทั่วไปผ้าสกรีนที่มีขนาดเส้นเล็กและละเอียดมากๆ มักจะใช้ในการพิมพ์สีน้ำมัน ดังนั้นการใช้กาวถ่ายบล็อกสีชมพูจึงไม่จำเป็นต้องเคลือบบล็อก เพราะไม่ได้ใช้พิมพ์สีพิมพ์สูตรน้ำ หากต้องการเคลือบให้เคลือบบล็อกเพิ่มความทนทานด้วนน้ำยาไวแสงแทน

 

8.เทคนิคการล้างลายในบล็อกสกรีนอย่างง่ายๆ

ปัจจัยที่ทำให้การล้างลายหลังจากถ่ายบล็อกสกรีนเสร็จแล้วง่ายหรือยากเกินไปนั้น พบว่ามีปัจจัยร่วมหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดก็จะส่งผลให้เกิดความยากง่ายในการล้างลายในบล็อกสกรีนต่างกัน แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบนั้น เป็นเพราะว่ากำลังไฟที่ถ่ายแสงและระยะเวลาที่ใช้ในการถ่ายแสงนั้นไม่สมดุลกัน โดยอาจจะมีปัจจัยในเรื่องของความเข้มข้นของน้ำยาไวแสงที่ใช้หรืออัตราการใช้น้ำยาไวแสงเข้ามาเกี่ยวข้องได้เช่นกัน และสาเหตุสุดท้ายที่คาดว่าจะมีผลนั่นก็คือ กาวถ่ายบล็อกสกรีนที่แห้งเกินไปนั่นเอง ดั้งนั้นเทคนิคที่จะช่วยให้การล้างลายในบล็อกสกรีนทำได้อย่างง่ายๆ นั่นก็คือ การหาค่าที่คงตัวและอัตราการใช้ที่เหมาะสมระหว่าง กำลังไฟ เวลา น้ำยาไวแสง และการแห้งตัวของกาว เช่น หากใส่น้ำยาไวแสงมาก กาวก็จะไวแสงมากอยู่แล้วดังนั้นเวลาและกำลังไฟที่ใช้ก็ต้องลดลง หรือหากตู้ถ่ายบล็อกมีกำลังไฟสูง เวลาที่ใช้ก็ต้องน้อยลง ในส่วนของกาวถ่ายบล็อก หากอบจนแห้งมากเกินไป พื้นที่ที่มีฟิล์มดำบังไว้จะไม่บวมน้ำ ทำให้ล้างลายยากนั่นเอง

 

9 แก้ปัญหาบล็อกถ่ายยาก ทำยังไงดี

ปัจจัยที่ทำให้บล็อกสกรีนถ่ายลายยากส่วนใหญ่มีปัญหามาจาก คุณภาพของกาวถ่ายบล็อกที่ใช้ ปริมาณของน้ำยาไวแสงที่ใส่ลงไป กำลังไฟที่ใช้ และระยะเวลาในการถ่ายแสง รวมถึงวิธีการฉีดน้ำเพื่อล้างลาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยการความชำนาญ ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้น การเรียนรู้และฝึกหัดอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีความเข้าใจในสิ่งที่ทำอย่างลึกซึ้ง ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง

Previous article 5 อุปกรณ์สำหรับงานพิมพ์สกรีนผ้า
Next article ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานของผ้าสกรีน